ประวัติความเป็นมา
ประเพณีชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีที่พราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ สันนิฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรก ในประเทศอินเดียตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ที่นิยมนำเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การแห่เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระนารายณ์ เป็นต้น
ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมา แล้วดัดแปลงปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา เมื่อพุทธศาสนาได้เผยแพร่ถึงภาคใต้ของประเทศไทย จึงได้นำประเพณีชักพระเข้ามาด้วย
เมื่อเดือน 9 ผ่านไปแล้ว หลายวัดที่ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะร่วมประเพณีลากพระในเดือน 11 ก็จะเริ่มเตรียมการหุ้มโพนเพื่อใช้ "คุมโพน" (ประโคมล่วงหน้า) และใช้ประโคมในวันพิธีรวมทั้งให้ชาวบ้านนำชัน (ประชัน) หรือแข่งขันกับของวัดอื่น ๆ การหุ้มโพนมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนทั้งในการขุดและขึงหนังให้ตึงเต็มให้ใช้เวลานานแรมเดือน บางวัดมีพิธีไสยศาสตร์ประกอบด้วย ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการนี้โดยตรง แต่ละวัดจะต้องมีโพน 2 ใบ ให้เสียงทุ้ม 1 ใบ เสียงแหลม 1 ใบ วัดไหนโพนเสียงดีแข่งขันชนะ ชาวบ้านก็พลอยได้หน้าชื่อชมยินดีกันไปนานเป็นแรมปี เมื่อใกล้วันลากพระประมาณ 7 หรือ 3 วัน ทุกวันที่ จะลากพระในปีนั้นก็จะเริ่มคุมโพน (ตีประโคม)
วันลากพระหรือชักพระ
เช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบน บุษบกเหนือเรือพระ นิมนต์พระภิกษุในวันนั้นทั้งหมดขึ้นนั่งประจำเรือพระพร้อมทั้งอุบาสกและศิษย์วัดที่ติดตามและประจำเครื่องประโคม อันมีโพน (กลองเพล) ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันลากเรือพระออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ (พระภิกษุที่จะร่วมไปด้วยต้องรีบฉันภัตการเช้าให้เรียบร้อยเสียก่อน) ถ้าเป็นการลากพระทางน้ำก็จะใช้เรือพายลาก ถ้าเป็นการลากพระทางบกก็จะใช้คนเดินลากแล้วแต่กรณี
ขณะที่ลากพระไป ใครจะมาร่วมแขวนต้มบูชาพระหรือร่วมลากตอนใดก็ได้ โดยเฉพาะการลากพระน้ำ เมื่อจะมีการนำต้มไปแขวนบูชาพระ เรือพายหรือเรือแจวจะเข้าไปชิดเรือพระที่ลำใหญ่กว่าและกำลังถูกลากอยู่ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเข้าใกล้พอสมควรก็จะใช้วิธี "ซัดต้ม"ไปยังเรือพระให้คนคอยรับ
การลากพระทางน้ำ
การลากพระทางน้ำ หรือ "ลากพระน้ำ" จะสนุกกว่า "ลากพระบก" เพราะสภาพการเอื้ออำนวยต่อกิจกรรมอื่น ๆ กว้างขวางกว่า เช่น สะดวกในการชักลาก ง่ายแก่การรวมกลุ่มกันจัดเรือพาย เพราะแต่ละกลุ่มมีการท้าทายต่อการแข่งขันประกวดประชันกันผนึกกำลังกันได้สะดวก มีกิจกรรมเชื่อมโยงอื่น ๆ ได้หลากหลายกว่า
(การลากพระทางน้ำ)
การชักพระบก
หรือ "ลากพระบก" แต่โบราณนิยมใช้ล้อเลื่อน เรือพระจึงหนักต้องอาศัยคนลากเป็นจำนวนมากจึงต้องมีเชือกลากเป็น 2 สาย สายหนึ่งสำหรับผู้หญิงอีกสายหนึ่งสำหรับผู้ชาย
(การชักพระทางบก)
เรือพระ
เรือพระ คือ เรือหรือรถ หรือล้อเลื่อนที่ประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบกซึ่งบุษบกนี้เรียกตามภาษาพื้นเมืองภาคใต้ว่า "นม" หรือ "นมพระ" ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปประดิษฐานแล้วชักลากในวันออกพรรษา ถ้าชักลากทางน้ำจะใช้เรือจริงๆ มาประดิษฐ์ตกแต่ง ถ้าใช้ชักลากทางบกจะใช้รถหรือล้อเลื่อนมาประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือ
(เรือพระ)
ขนมต้มใบพ้อ
หรือที่เรียกกันว่า “ ขนมต้ม “ หรือ “ ต้ม ” ทำจากข้าวเหนียว เป็นข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำก็ได้ ผัดกับหัวกะทิให้พอสุก แล้วห่อด้วยใบกะพ้อ เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายกระจับ จะเหลือก้านใบทำเป็นหางไว้สำหรับหยิบหรือ โยนใส่เรือพนมพระ ตามลักษณะของข้าวต้มลูกโยน แล้วเอาไปต้ม หรือนึ่งให้สุกนอกจากทำในเทศกาลบุญชักพระของชาวใต้ และยังเป็นขนมที่ใช้ในงานประเพณีหลายๆงานในท้องถิ่นภาคใต้ ที่ใช้กันเป็นหลักคือในงานบุญออกพรรษา การตักบาตรเทโว งานชักพระ งานเดือนสิบ และงานบวช
( ขนมต้ม )
กีฬาซัดต้ม
การซัดต้มเป็นกีฬาพื้นเมืองชนิดหนึ่ง ที่นิยมเล่นกัน ในวันลากพระ กีฬาชนิดนี้ มีเพียงในบางท้องที่เท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้ทำลูกต้มสำหรับปาด้วยข้าวตากผสมทราย ห่อด้วยใบตาลโตนด หรือใบมะพร้าวมาสานแบบตะกร้อ อย่างแน่นหนาขนาดเท่ากำปั้นพอเหมาะมือ หลังจากนั้น นำลูกต้มไปแช่น้ำให้ข้าวตากพองตัว มีน้ำหนักสนามหรือเวที ในการซัดต้ม อาจจะให้พื้นดินธรรมดา หรือจะปลูก ยกพื้นประมาณ 1 เมตร กว้างด้านละ 1-2 เมตร ห่างกันประมาณ 8-10 เมตร ก็ได้ สำหรับผู้ซัดต้ม จะต้องเลือกคนที่มีลักษณะรูปร่างความแข็งแรง ความชำนาญที่พอจะสู้กันได้ ทั้งคู่จะยืนในพื้นที่ ที่เตรียมไว้ หันหน้าเข้าหากัน มีกรรมการเป็นผู้ควบคุม การซัดต้มจะผลัดกันซัดคนละ 3 ครั้ง โดยมีลูกต้มวางข้างหน้าฝ่ายละ 25-35 ลูก ในการซัดต้ม มักเป็นคนใจกล้า สายตาดี มีความสามารถ ในการหลบหลีกหรือรับลูกต้มไว้โดยไม่ถูกตัว ผู้ที่ปา หรือซัดถูกคู่ต่อสู้มากจะเป็นฝ่ายชนะมากขึ้น
(ลูกต้ม)
(กีฬาซัดต้ม)